เกี่ยวกับคลังหนังสือหายาก

ยินดีต้อนรับสู่ คลังหนังสือหายาก หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่
      คลังหนังสือหายากหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการสืบค้นหนังสือหายาก กรณีศึกษาหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่” ซึ่งได้รับทุนโครงการวิจัยจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บและสืบค้นให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงหนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ ได้เกณฑ์ในการคัดเลือกหนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติ ประกอบด้วย
    1. หนังสือที่มีตราพระหอสมุดวชิรญาณ
    2. หนังสือที่มีประวัติการครอบครอง
    3. หนังสือที่มีเนื้อหาน่าสนใจ
    4. หนังสือที่จัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์ยุคแรก
    5. หนังสือที่จัดพิมพ์เป็นครั้งแรก
    6. หนังสือที่มีบุ๊คเพลท
    7. หนังสือที่ออกในโอกาสพิเศษ
    8. หนังสือที่มีรูปเล่มสวยงาม
    9. หนังสือที่มีภาพเก่าน่าสนใจ
   10. หนังสือชีวประวัติของบุคคล
   11. เอกสารต้นฉบับลายพระหัตถเลขาและลายมือเขียน
   12. หนังสือที่พิมพ์เป็นภาษาต่าง ๆ
       สำหรับหนังสือหายากของ หอสมุดแห่งชาติ รัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่นั้น มีการเก็บรวบรวมหนังสือหายากที่ได้รับบริจาค เนื้อหาส่วนใหญ่มักปรากฏอยู่ในลักษณะหนังสือที่ออกในโอกาสพิเศษ โดยเป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพ สำหรับลักษณะเด่น และไม่เหมือนที่อื่นของหนังสือหายากจากการสำรวจเป็นเรื่องของ หนังสือที่พิมพ์เป็นภาษาล้านนา และโรงพิมพ์ท้องถิ่นด้านภาษาล้านนาที่มีการพิมพ์ทำให้เห็นถึงอารยธรรม องค์ความรู้และอัตลักษณ์ทางภาษาของดินแดนล้านนา สำหรับด้านการพิมพ์ทางภาคเหนือ หรือทางล้านนานั้น วรรณภา ปะวิโน (2564) บรรณารักษ์หอสมุดแห่งชาติ รัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ กล่าวว่า การมีโรงพิมพ์ สะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการการสื่อสาร จากภาคกลางขึ้นมาทางภาคเหนือ โดยการพิมพ์ของไทยเกิดขึ้นจากคณะมิชชันารีที่มุ่งเผยแพร่คริสต์ศาสนา นอกจากนี้ การพิมพ์ของไทยสามารถสร้างคุณประโยชน์ต่าง ๆ คือ 1) เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้อย่างกว้างขวาง 2) เกิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ 3) เป็นสื่อกลางถ่ายทอดความรู้ใหม่ให้ทันต่อเหตุการณ์ 4) ช่วยเผยแพร่เอกสารราชการให้ประชาชนรับรู้ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ 5) เปิดโลกทัศน์ให้ประชาชนที่อาศัยในประเทศไทย ได้รับความรู้และวิทยาการต่าง ๆ รวมทั้งข่าวสารจากต่างประเทศได้มากขึ้น